Nipamail เป็นเครื่องมือการทำการตลาดผ่านทางอีเมลของคนไทย ซึ่งพอลองใช้แล้วบอกเลยว่า ไม่ประทับใจเลย หลายคนอาจจะคิดว่ารีวิวนี้ทำมาเพื่อดิสเครดิตหรือเปล่า บอกเลยว่า รีวิวนี้ได้ลองใช้งานจริง ลองทดสอบในทุกแง่มุม ซึ่งเห็นว่า Nipamail แพลตฟอร์มนี้ทำได้หลายอย่างแต่แบบพื้นๆเท่านั้น แต่ก็เหมาะกับทุกคน มีบริการฟรีให้ทดลอง 1 เดือน ปุ่มและหน้าต่างที่ใช้งานง่าย แต่ใครที่ไม่เก่งดีไซน์อาจจะต้องเสียใจ เพราะแพลตฟอร์มไม่มีเทมเพลทฟรีให้ใช้ อาจจะต้องอาศัยสกิลการตกแต่ง หรือผู้เชี่ยวชาญที่สร้างเทมเพลทเองและนำเข้าโค้ด อาจจะเหมาะมากกว่า สิ่งที่ทำให้ Nipamail แตกต่างจากบริการอื่น ก็คงจะเป็นบริการเป็นภาษาไทย สื่อสารได้ง่าย หากติดขัดใดๆ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้สะดวก อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มอื่นๆจากต่างประเทศ ที่มีการแข่งขันสูงกว่า ทำให้มีการพัฒนาทั้งฟังก์ชั่นและงานบริการ ซึ่งดีกว่า Nipamail มากเลยทีเดียว ถ้าเป็นไปได้ เลือกเจ้าอื่นดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไป ลองอ่านรีวิวแบบจ่ายรายเดือนกันดูก่อนว่า Nipamail ทำไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตรงไหนที่ชอบหรือตรงไหนที่ไม่ผ่าน
โดยรวม
คุณสมบัติ
อย่างอื่นดี เทมเพลทไม่มี ก็จบกัน
เครื่องมือและฟังก์ชั่นพื้นฐานถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว ทั้งการนำเข้ารายชื่อ ระบบ automation แต่สิ่งที่ขาดไปอย่างแรงเลยก็คือ เทมเพลท น่าแปลกใจมากๆ ที่ไม่มีเทมเพลทฟรีให้เลือกใช้ ถึงแม้จะตกแต่งได้ง่ายๆแบบลากและวาง แต่ยังไงบริการก็ควรปรับปรุงตรงนี้อยู่ดี
แคมเปญอีเมลล์, เทมเพลท และ การปรับแต่งอีเมลให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
แคมเปญอีเมลล์ของ Nipamail มีทั้งแบบใช้บริการฟรีสูงสุด 30 วัน แบบรายเดือน และแบบซื้อจำนวนเครดิตอีเมลล์ที่ต้องการ สามารถเลือกตามโจทย์ความต้องการ ซึ่งทางผู้รีวิวเองได้ลองใช้บริการแบบรายเดือน เนื่องจากมีฟังก์ชั่นที่เพิ่มเติมเยอะกว่าแบบฟรี เช่น การใช้เครื่องมือ Social Tag ซึ่งผู้รับสามารถส่งต่อข่าวสารไปยัง ช่องทางต่างๆได้โดยการคลิกที่ปุ่ม Social Tag หรือการส่ง Personal Email โดยการเพิ่มข้อมูลส่วนบุคคลในจดหมายข่าวสาร เช่น ชื่อ นามสกุล รหัสโปรโมชั่น หรือ ที่อยู่ เป็นต้น
หลังจากสมัครแบบรายเดือนราคาเริ่มต้นที่ 300 บาท บริการที่ได้รับจะเยอะขึ้นมาจากฟรีแพลน โดยสามารถส่งอีเมลล์ได้ทั้งหมด 1,000 ฉบับต่อเดือน หากต้องการใช้บริการ sms ต้องซื้อแยกเอง สามารถซื้อจำนวนอีเมลล์ที่ต้องการส่งต่อเดือนเพิ่มขึ้นได้ แพลนถัดไปจะอยู่ที่ 5,000 ฉบับต่อเดือน ราคา 1,230 บาท ซึ่งสามารถปรับสรรได้ตามขนาดธุรกิจ
พอเปิดมาหน้าสร้างเทมเพลท พยายามหาเทมเพลทที่ระบบมีให้ ปรากฏว่าหาไม่เจอ ยังดีที่ออกแบบจะรองรับการตกแต่งแบบลากและวาง เลือกขนาด เพิ่มรูปภาพได้ตามใจชอบ ปรับเปลี่ยนขนาดตัวหนังสือ เลือกสี ก็ทำได้สะดวก อย่างไรก็ตามคนที่ชอบความหลากหลายของฟ้อนท์ อาจจะไม่ค่อยพึงพอใจในจุดนี้ เนื่องจากมีฟ้อนท์สากลให้เลือกใช้เพียง 18 ฟ้อนท์เท่านั้น
ยังดีที่แพลตฟอร์มของ Nipamail สามารถนำเข้าเทมเพลท เข้ามาใช้ในระบบได้ง่ายโดยการสร้างเทมเพลทและอัพโหลดไฟล์ HTML เข้าระบบได้เลย
ส่วนใครที่ถามหาลูกเล่นที่เพิ่มเติมเข้าไปอีก เช่น นาฬิกานับถอยหลัง รูปภาพในสต็อกฟรี คงต้องเสียใจ เพราะ Nipamail ไม่มีเครื่องมือนี้ให้
นอกจากนี้ผู้ใช้งานยัง สามารถทำการสร้างลิงค์ยกเลิกรับข่าวสารอีเมลล์ได้โดยง่าย เป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ลูกค้าว่ายังต้องการรับข่าวสารหรือไม่ พร้อมทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือจากผู้ส่งอีเมลล์ ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกรายงานว่าเป็นอีเมลล์สแปม
พอทำการออกแบบอีเมลล์ที่จะส่งให้กับรายชื่อลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถดูตัวอย่าง การแสดงผลในอุปกรณ์ต่างๆ ตัวอย่างการแสดงผลอีเมลในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เป็นต้น เพื่อให้อีเมลล์มีการแสดงผลที่ถูกต้องในทุกๆอุปกรณ์ เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับอีเมลล์ของผู้รับ หรือเพิ่ม engagement level นั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจที่ทาง Nipamail มีเพิ่มเข้ามาคือ ตัวเลือกที่เพิ่มลูกเล่นให้ ผู้รับอีเมลล์ส่งต่อข่าวสารที่น่าสนใจให้เพื่อนได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายข่าวสาร หลังจากมีการส่งต่ออีเมลล์ผ่านเครื่องมือ Forward to Friends ระบบจะช่วยเก็บสถิติว่าอีเมลล์ไหนมีการส่งต่อไปยังอีเมลล์ไหน เพื่อวัดผลความสำเร็จของแคมเปญอีเมลล์ว่าทำได้ดีหรือไม่ และถือเป็นการเพิ่มฐานรายชื่อใหม่ได้แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม
นอกจากนี้รูปภาพที่ใช้ในการสร้างแคมเปญอีเมลล์ยังถูกเก็บไว้ที่โฮสติ้งของทาง Nipamail ซึ่งผู้ใช้งานสามารถอัพรูปที่จะใช้ในการสร้างแคมเปญอีเมลล์ได้โดยไม่จำกัด และระบบจะช่วยเก็บข้อมูลไว้ย้อนหลังนานถึง 7 ปี ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากๆ
ระบบ personalization หรือ การปรับแต่งอีเมลให้เหมาะกับแต่ละบุคคล หรือการส่งอีเมลล์หาลูกค้าแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เช่น ชื่อ เพศ ช่วงอายุ ความชอบ เป็นต้น เช่น มีเทมเพลท “สวัสดี *ชื่อจริง*” แล้วพอใส่รายชื่อลูกค้าลงไป เฟิร์น,ฟ้า,ฟิล์ม ผู้รับก็จะได้รับอีเมลล์ “สวัสดี เฟิร์น” “สวัสดี ฟ้า” “สวัสดี ฟิล์ม” ซึ่ง บริการของ Nipamail ก็มีให้ปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ได้ทั้ง ชื่อจริง ชื่อเล่น วันเกิด อีเมลล์
มาต่อกันที่ A/B testing หรือเป็นการทดสอบเพื่อหาอีเมลล์ที่ใช่และตรงใจผู้รับมากที่สุดโดยทำการส่งอีเมลล์ไปให้ลูกค้า 2 แบบ ที่มีจุดต่างกันเล็กน้อย เช่น หัวข้อ ชื่อผู้ส่ง เนื้อหา เวลาที่จัดส่ง ทดสอบโดยการทดลองส่งไปยังกลุ่มตัวอย่างและวัดผล เพื่อหาแคมเปญที่มีคุณภาพ และมีแนวโน้มที่ผู้รับจะสนใจเปิดอ่านมากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแคมเปญอีเมลล์ของผู้ใช้งาน
ซึ่งสิ่งที่ดีมากอย่างนึงของระบบของ Nipamail ในการทดสอบ A/B testing ยังสามารถแยกผล แคมเปญที่ชนะ และแคมเปญที่มีคนเปิดน้อย หรือคลิกน้อย พร้อมทั้ง บอกเวลาได้อีกด้วย โดยผู้ใช้สามารถสร้างแคมเปญเปรียบเทียบ โดยการเปลี่ยนชื่ออีเมล์, เนื้อหา, รูปภาพ, กลุ่มผู้รับ
รายชื่ออีเมล์ และการแบ่งกลุ่มทดสอบ
เพียงแค่อัพโหลดไฟล์สกุล CSV หรือ Excel หรือเลือกพิมรายชื่อเองก็ได้ แต่บริการของ Nipamail รองรับเพียงสกุลไฟล์ CVS แต่ไม่รองรับสกุลอื่นๆ เช่น TXT, VCF, XLSX, และ ODS อย่างไรก็ตามสามารถเชื่อมต่อกับบริการอื่นๆที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลรายชื่อภายนอกได้ เช่น MySQL และ Salesforce เพื่อดึงฐานข้อมูลลูกค้าเข้าสู่ระบบได้
แพลตฟอร์ม Nipamail มีการสอบถามว่า อีเมลล์ที่นำเข้าได้รับอนุญาตจากเจ้าของอีเมลล์เรียบร้อยแล้วหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีมากๆ ในการตรวจหาและป้องกันอีเมลล์สแปม
การจัดการรายชื่ออีเมล ผู้ใช้งานจัดการรายชื่ออีเมลสมาชิกได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถเพิ่ม แก้ไข บันทึก ข้อมูลของรายชื่อลูกค้าได้ตามต้องการ ที่สำคัญยังมีช่องพิมพ์คีย์เวิร์ดลงไปเพื่อค้นหาคำที่ต้องการ ซึ่งทำให้ง่ายต่อผู้ใช้งาน สามารถย้ายกลุ่มรายชื่อเเต่ละรายชื่ออีเมลได้ แถมยังสามารถเพิ่มฟิลด์เก็บข้อมูลได้เอง ตามความต้องการ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลผู้รับได้อย่างละเอียด เช่น ชื่อจริง นามสกุล ที่อยู่ เพศ วันเกิด และความสนใจ เป็นต้น
Nipamail ยังมีเครื่องมือในการ export รายชื่ออีเมล ในแต่ละกลุ่มและนำออกมาเป็นไฟล์ excel ได้ และยังช่วยจัดเก็บรายชื่ออีเมลฐานข้อมูลลูกค้าที่สะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้งานแบบจ่ายรายเดือนจะสามารถดาวน์โหลด รายงานของแต่ละแคมเปญในรูปแบบ excel ซึ่งแสดงข้อมูลทางตัวเลขและสถิติโดยละเอียด ทำให้ช่วยวิเคราะห์ผลการทำ email marketing ได้ง่ายในครั้งถัดๆไป และยังช่วยให้สามารถกำหนดงบประมาณ หรือแผนการสร้างแคมเปญต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
สิ่งที่ชอบมากๆอีกอย่างนึงของ Nipamail ก็คือ มีแสดงรายชื่ออีเมลลูกค้าที่มีการเปิดอ่านอีเมลภายในแคมเปญนั้นๆ(open rate) สามารถดูผลจำนวนการคลิกลิ้งภายในอีเมล (click rate) พร้อมทั้งบอกจำนวนครั้งที่คลิก แสดงเวลาที่มีการอ่านและคลิกอีเมล เพื่อนำไปทำสถิติในแคมเปญต่อไปได้ ถึงเวลาที่เหมาะสมในการทำการตลาดผ่านทางอีเมลล์ แสดงผลกราฟทางสถิติที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเข้าไว้ด้วยกัน เช่น อีเมลที่เป็น Hard Bounce, Soft Bounce พร้อมทั้งคำนวณแปลงค่าเป็นเปอร์เซนต์ให้อีกด้วย
มาต่อกันที่ การแบ่งกลุ่มทดสอบ หรือ Segmentation คือการแบ่งอีเมลล์ลูกค้าออกเป็นกลุ่มๆ จัดกลุ่มผู้รับอีเมลตามเงื่อนไขที่ต้องการ เพื่อให้การส่งอีเมลล์ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด สมมุติว่ามีลูกค้า 200 คน แต่อยากโฟกัสที่กลุ่มผู้หญิง อายุระหว่าง 18-24 เป็นต้น
โดยบริการที่มีระบบ segmentation ที่ดีจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มข้อมูลของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบทั้ง เพศ อายุ วันเกิด พฤติกรรม อัตราการคลิกเปิดอ่านอีเมล เป็นต้น ตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ครอบคลุม บริการของ Nipamail สามารถแบ่งได้หลายกลุ่ม รวมถึงสามารถค้นหาข้อมูลรายชื่ออีเมลภายในกลุ่มต่างๆได้ ละยังทราบถึงอัตราการเปิดการคลิกของกลุ่มเพื่อทราบถึงประสิทธิภาพของกลุ่มนั้นๆ
ระบบของ Nipamail มีทั้งแบบลบรายชื่อด้วยตนเอง หรือระบบช่วยในการทำความสะอาดลิสรายชื่ออัตโนมัติ ทั้งช่วยในการการจัดการอีเมลเสียและอีเมลที่ยกเลิกการสมัครสมาชิกได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อมี Email Soft/Hard Bounce หรือ Email Unsubscribe ระบบจะทำการลบรายชื่อออกจากกลุ่มรายชื่อที่เป็น Subscriber โดยอัตโนมัติ และเก็บรายชื่อที่ตีกลับไว้ในสถานะ Bounce และ ในสถานะ Unsubscriber ระบบจะไม่ทำการส่งออกอีกอีเมลล์ในแคมเปญครั้งต่อไป ผู้ใช้งานจะยังสามารถตรวจสอบได้ว่ามีอีเมลไหนบ้างที่มีการตีกลับหรือยกเลิกสมัครสมาชิก
แต่น่าเสียดาย จะดีกว่านี้ ถ้าระบบ Nipamail มีการแบ่งกลุ่มของ ลูกค้าที่มีปฏิสัมพันธ์น้อย หรือ unengaged subscribers เช่นกลุ่มคนที่ไม่คลิกลิ้งค์ในอีเมลตลอด 14 วันที่ผ่านมา หรือคนที่ไม่เปิดอ่านอีเมลล์เลย 30 วันที่ผ่านมาเป็น ต้น
แลนดิ้งเพจ
แลนดิ้งเพจ (Landing page) หรือ เว็บไซต์หน้าเดียว เป็นที่นิยมใช้ในระบบการทำ email marketing สามารถใช้ทำได้อย่างหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น หน้าสมัครสมาชิก สมัครติดตามรับข้อมูลข่าวสารทางอีเมลล์ หน้าโปรโมชั่น และอื่นๆอีกมากมาย
โดยระบบของ Nipamail สามารถ สร้างแบบฟอร์มเพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถสมัครสมาชิกรับข่าวสารผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้ แล้วโดยรายชื่ออีเมลจะถูกจัดเก็บที่กลุ่มรายชื่อผู้รับ หรือลิสต์รายชื่อที่เรากำหนดไว้โดยอัติโนมัติ และสามารถใช้ระบบ automation ส่งอีเมลต้อนรับสมาชิกได้อย่างอัตโนมัติ
Automation
หรือ ฟังก์ชั่นการทำงานอัตโนมัติ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใช้งานคอยจัดการส่งอีเมลล์ให้ลูกค้า
ข้อดีของ automation คือ คือช่วยลดระยะเวลาการทำงาน เนื่องจาก Automation เป็นการสั่งงานด้วยชุดคำสั่งอัตโนมัติซึ่งผู้ใช้งานเป็นคนกำหนดเอง แถมยังมีความแม่นยำในการทำงานตามคำสั่งซ้ำได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานของบุคคล ไม่ต้องมีพนักงานควบคุมตลอดเวลาก็ได้ และช่วยให้งานง่ายขึ้น และลดต้นทุนบุคลากร
ที่สำคัญฟังก์ชั่นของ automation สามารถเลือกที่จะนำเข้าประเภทของรายชื่อลูกค้าได้หลากหลาย เช่น ลูกค้าที่เลือกติดตามข่าวสาร ลูกค้าที่เลิกติดตามข่าวสาร ลูกค้าที่เปิดอ่านอีเมลล์ ลูกค้าที่คลิกลิงก์ในอีเมลล์ หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่เลือกสินค้าลงในตะกร้าแต่ไม่ได้ชำระเงิน
ช่วยทั้งวางแผนการสร้างแคมเปญจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ใช้งานตั้งค่าไว้ สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ และมีการวัดประเมินผลที่ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยวิเคราะห์ผลอย่างละเอียด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามการทำงานในแต่ละขั้นตอนของแคมเปญ ขณะที่แคมเปญกำลังทำงานผ่านระบบ Email Automation หรือ หลังจากแคมเปญทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น แสดงจำนวนผู้รับอีเมล์ จำนวนคนเปิดอ่านอีเมล์จำนวนเท่าไหร่ มีการตอบสนองของแคมเปญจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น
ฟีเจอร์เพิ่มเติม
ระบบของ Nipamail ไม่ได้มีเครื่องมือรองรับ ecommerce แต่อย่างใดซึ่ง ต่างจากเจ้าอื่นๆ เช่น GetResponse ที่มีตัวช่วยเครื่องมือตัวช่วยการขาย ช่วยเพิ่มยอดและประหยัดแรงและเวลา ทั้งในการติดตั้งสร้างอีเมลล์ เทมเพลทที่มีมาให้ โปรโมชั่นต่างๆ ที่แค่ลากและวาง สามารถต่อเข้ากับเว็บการขายอื่นๆได้ง่ายเช่น WooCommerce Shopify Magento เป็นต้น น่าเสียดายที่ Nipamail ขาดจุดนี้อีกเช่นกัน
ความสามารถในการส่งมอบ
ก็พอไหว แต่ไม่ผ่าน
Deliverability หรือ การวัดผลการส่งของอัตราการที่อีเมลล์ไปยังกล่องจดหมายเข้าของลูกค้า ซึ่งบริการของ Nipamail ค่อนข้างโอเคเลยทีเดียว แต่ต้องไปดูกันต่อว่า หลังจากที่นำเข้าลิสรายชื่อ การเพิ่มคำสั่งในระบบ automation และหลังจากทำแคมเปญอีเมลล์เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีเมลล์ที่ส่งออกไป จะไปถึงกล่องจดหมายผู้รับซักเท่าไหร่ อีเมลล์ที่ส่งไปจะโดนหมายว่าเป็นสแปมมั้ย หรือโดยแยกเข้ากล่องจดหมายโปรโมชั่นแทนหรือเปล่า
อาจจะเป็นการยากที่จะทดสอบหาเปอร์เซ็นต์ว่าสรุป อัตราการได้รับอีเมลล์ของแต่ละแพลตฟอร์มเท่าไหร่กันแน่ แม้หลายๆรีวิวหรือหลายๆเจ้ามักเคลมเป็นตัวเลขที่แน่ชัด แต่บอกได้เลยว่ามีหลายปัจจัยมากๆที่ส่งผลต่ออัตราการที่อีเมลล์ไปยังกล่องจดหมายลูกค้า จึงเป็นการยากที่จะสรุปเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอน สิ่งที่สามารถพิจารณาเพื่อดูความสามารถของอัตราการที่อีเมลล์ไปถึงกล่องจดหมายผู้รับ ได้แก่ DKIM นโยบายการป้องกันสแปมของแต่ละแพลตฟอร์ม เป็นต้น
มาเริ่มกันที่ Domain Keys Identified Mail (DKIM) หรือเครื่องมือที่มีความซับซ้อนในการเพิ่มลายเซ็นดิจิตอลที่ส่วนหัวของอีเมล (Email Header) ที่ส่งออกไป ทำให้เซิร์ฟเวอร์เมลปลายทางของผู้รับสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ส่งใช้เซิร์ฟเวอร์เมลของผู้ส่งในการส่งจริงหรือไม่ เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือของอีเมลของผู้ส่งเอง โปรโตคอลนี้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการโจมตีแบบแทรกกลางการสื่อสาร (Man-in-the-Middle) ป้องกันไม่ให้อีเมลที่ส่งออก ไปอยู่ในโฟลเดอร์อีเมลสแปมของผู้รับ ทำให้อีเมล์ทุกฉบับที่ส่งออกไปให้รายชื่อผู้ติดต่อ มีการได้รับและมีโอกาสจะถูกเปิดอ่านได้สูง เนื่องจากไม่ได้ถูกเก็บในโฟลเดอร์อีเมลสแปม ซึ่ง Nipamail ได้มีบริการในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ระบบ Nipamail มีนโยบายชัดเจนในช่วยในการการตรวจสอบความเป็นสแปม ซึ่งสามารถตรวจสอบค่าความเป็นสแปมเบื้องต้นของเนื้อหาอีเมลก่อนที่จะจัดส่ง เพื่อแก้ไขก่อนที่จะมีการจัดส่งจริง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกมองว่าเป็น อีเมลผู้ส่งเป็นอีเมลสแปม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแคมเปญอีเมลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ใช้งานสามารถ ตั้งค่าการส่งซ้ำในกรณีที่ผู้รับไม่เปิดอ่านหรือไม่คลิกลิงค์ภายในอีเมล โดยสามารถกำหนดวัน เวลาและเงื่อนไขเพื่อให้ระบบดำเนินการส่งซ้ำต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม Nipamail ไม่ได้มีระบบกรองอีเมลล์สแปมตั้งแต่นำเข้ารายชื่อ ซึ่งพอลองทดสอบการรับมือกับอีเมลล์ที่ดูสแปมซะเหลือเกิน ดูว่าทางแพลตฟอร์มจะทำยังไงถ้านำเข้าโดยใช้อีเมลล์ที่พิมภาษามั่วๆ ใส่ลงไป เช่น [email protected] และ [email protected] จากนั้นตั้งชื่อไฟล์ spam_contacts.csv ซึ่งหวังว่าทางแพลตฟอร์มจะทำการปฏิเสธโดนทันที
แต่อย่างไรก็ตาม พอนำเข้าอีเมลล์ภาษามั่วๆดังกล่าว ปรากฎว่าไม่มีไรเกิดขึ้น สามารถนำเข้าได้ปกติ ซึ่งน่าผิดหวังมากๆ หากใครที่ต้องการบริการที่ค่อนข้างเข้มงวดกับอีเมลล์สแปม แนะนำให้ลองใช้แพลตฟอร์มอื่น เช่น GetResponse ที่มีระบบคัดกรองอีเมลล์ขั้นสูง สามารถลดปัญหาเรื่องอีเมลสแปมได้อย่างดีเยี่ยม
ผู้อ่านหลายคนอาจจะสงสัยว่า การทำการตลาดแบบ Affiliate marketing สามารถทำได้มั้ย คำตอบคือ สามารถทำ Affiliate Marketing ได้บน Nipamail แต่ถ้าส่งออกไปหนักๆอาจเป็นปัญหาได้ เนื่องจากอีเมลล์ส่งไปจากที่อยู่ IP เดียว โดยถ้าเป็น Gmail อาจจะจัดกลุ่มอีเมลล์ทั้งหมดที่ส่งไปเป็นกลุ่มเดียวกันได้
สิ่งที่ขาดไปอีกอย่างของ Nipamail คือการอัพเกรดเป็น IP ส่วนตัว ซึ่งการอัพเกรดนี้เป็นปัจจัยหลักๆอย่างนึงเลยที่ช่วยเพิ่มอัตราการวัดผลการส่งอีเมลล์ ใครที่สนใจตัวเลือกนี้อาจจะมองหาบริการเช่น GetResponse ที่มีตัวเลือกให้อัพเกรดในแพลนสูงสุด
การวิเคราะห์และการรายงาน
เครื่องมือพื้นฐานครบ แต่ไม่ได้ว้าวอะไร
การวิเคราะห์ข้อมูลหรือ หน้ารายงานผลข้อมูล เป็นจุดที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มเลยก็ว่าได้ หลังจากทำการตลาดทางอีเมลล์ไปซักพัก ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรู้ว่าอีเมลล์ไหนได้รับผลตอบรับที่ดี อีเมลล์ไหนที่คนสนใจน้อย หน้าวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีสามารถบอกได้อีกว่า ผู้ใช้งานคนไหนมีส่วนร่วมกับแคมเปญเยอะ เป็นกลุ่มคนประเภทไหน อะไรทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้สนใจอีเมลล์ที่ทำการส่งไป พอทราบถึงข้อมูลเหล่านั้นแล้ว ก็จะเป็นการง่ายต่อการทำกลยุทธ์การตลาดแก่ลูกค้าเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลแสดงถึง จำนวนคนที่สมัครรับข้อมูลข่าวสารทางอีเมลล์เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่มากกว่าคนภูเก็ต แต่คนจังหวัดภูเก็ตกลับคลิกลิ้งค์ที่แนบไปกับอีเมลล์มากกว่า ทำให้เห็นว่า คนเชียงใหม่อยากรับรู้ข่าวสารเก่ียวกับธุรกิจหรือสินค้าเลยสมัครรับอีเมลล์ แต่อีเมลล์ที่ส่งไปอาจจะขาดบางอย่างที่ลูกค้าคนเชียงใหม่ไม่สนใจ ทำให้ผู้ส่งสามารถอุดรอยรั่วตรงนี้ได้
ซึ่งหลังจากใช้งาน Nipamail บอกเลยว่า หน้ารายงานผลมีสถิติรายงานการส่งอีเมลแบบ real time ทันที รายงานการจัดส่งแคมเปญอย่างละเอียด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ความสนใจ อัตราการมีส่วนร่วมกับอีเมลและประสิทธิภาพของแคมเปญอีเมลได้ นอกจากนี้ยังมี รายงานการเปิดและการคลิก
ที่แสดงวันและเวลาในการเปิดและการคลิก บอกวันเวลาใดมีการเปิดและการคลิกมากที่สุด เพื่อช่วยในการวางแผน หรือตั้งเวลาการส่งอีเมลครั้งต่อไปให้ถูกต้อง เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มอัตราการเปิดและการคลิกให้อีเมลเเคมเปญ ทำให้ engagement level สูงอีกด้วย
สิ่งที่มีเพิ่มเติมมาอีกของ Nipamail คือสามารถดาวน์โหลดไฟล์รายงานได้อย่างละเอียด
ซึ่งทำได้ในทุกหน้ารายงานไม่ว่าจะเป็นข้อมูล การเปิด(open rate) การคลิก(click rate) Email Bounce หรืออีเมลที่ยกเลิกสมัครรับข่าวสาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลความสำเร็จของแคมเปญ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหาลูกค้าเป้าหมายที่แม่นยำในระยะยาวได้อีกด้วย
นอกจากนี้หน้ารายงานวิเคราะห์ผลข้อมูลยังแสดงรายงานการเปิดและคลิกตามพื้นที่ของผู้รับ แสดงตำแหน่งที่มีการเปิดอีเมลแสดงสถิติทั้งในส่วนของประเทศ จังหวัดและเมืองที่เปิดอีเมล เพื่อบ่งบอกตำแหน่งของผู้ที่เปิดอีเมล โดยผู้ใช้งานสามารถใช้สถิติดังกล่าวในการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มลูกค้า เพื่อกำหนดเป้าหมายแคมเปญที่แม่นยำในครั้งต่อไป
Nipamail มีการให้คะแนนจัดเรทของลูกค้าจากการมีส่วนร่วมด้วยอัตราการเปิดและอัตราการคลิก ซึ่งทำให้สามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ตามอัตราการส่วนร่วม หรือเป็นการวัดคุณภาพรายชื่ออีเมล ซึ่งผู้ใช้งานสามารถส่งโปรโมชั่นหรือส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าที่มีส่วนร่วมสูง หรือ ส่งข้อเสนอสุดพิเศษให้กับลูกค้าที่มีส่วนร่วมต่ำเพื่อให้ลูกค้ากลับมามีส่วนร่วมกับอีเมลอีกครั้ง ซึ่งส่วนตัวชอบเครื่องมือนี้มาก เพราะทำให้ช่วยตัดสินใจว่าลูกค้ากลุ่มไหนมีส่วนร่วมมากหรือน้อย
ต่อมาในส่วนของ การรายงานกิจกรรมของผู้รับ รายงานรายชื่ออีเมลที่ส่งสำเร็จ และส่งไม่สำเร็จ (Bounce) พอทราบข้อมูลรายงานผล ก็จะสามารถนำรายชื่อที่ส่งอีเมลล์ไม่สำเร็จออกจากลิสรายชื่อ รวมถึงรายงานผลอีเมลที่เปิดอ่านและไม่ได้เปิดอ่าน รายชื่ออีเมล ที่คลิกแต่ละลิงค์ในอีเมลล์สมัครรับข่าวสาร รายงานรายชื่ออีเมลที่ยกเลิกสมัครรับข้อมูลข่าวสาร (Unsubscribe) รายงานรายชื่ออีเมลส่งต่อให้เพื่อน (Forward to friends) ข้อมูลต่าง เหล่านี้ สามารถนำไปวิเคราะห์ความสนใจของผู้รับข่าวสาร และนำไปปรับปรุงในการส่งครั้งต่อไป
นอกจากนี้ระบบของ Nipamail สามารถเชื่อมต่อระบบเข้ากับ Google Analytics โดยใส่ Tracking ID ของเว็บไซต์ เพื่อติดตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามายังหน้าเว็บไซต์ว่าเข้ามาจากช่องทางใด เพื่อวัดความสำเร็จของแคมเปญการส่งอีเมล กับแคมเปญการตลาดอื่นๆ
การสนับสนุน
บริการแบบนี้ พักก่อน
ระบบช่วยเหลือของ Nipamail ถือว่าไม่น่าประทับใจตั้งแต่เริ่มสมัครแบบรายเดือน เนื่องจากอีเมลล์ขอใบเสร็จ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ แถมหน้าระบบช่วยเหลือ (support) ไม่มีในหน้าหลัก ต้องหาวิธีติดต่อผ่านการเข้าหน้าเว็บของแพลตฟอร์ม และหาหน้าติดต่อเราแทน บอกเลยว่า การให้บริการการช่วยเหลือบอกเลยว่าแย่ถึงแย่ที่สุด นอกจากนี้ไม่มีระบบ Live chat ที่ต้องการจะติดต่อเวลาใดก็ได้ แต่ก็เข้าใจว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ขนาดเล็ก อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบอีกพักใหญ่ เป็นไปได้ แนะนำ email marketing แพลตฟอร์มอื่นๆเช่น Mailchimp,GetResponse,Sendinblue หรือ Aweber จะดีกว่ามาก ยังดีที่มีให้บริการผ่านทางอีเมลล์และโทรศัพท์ ไม่งั้นต้องบ๊ายบายเลยทีเดียว
เมื่อลองใช้บริการช่วยเหลือจากทาง Nipamail โดยถามคำถามเหล่านี้ไป
- วิธีนำเข้าอีเมล์ด้วย CSV file
- วิธี segment list จากลูกค้าที่เปิด/ไม่เปิด อ่านอีเมลล์
- วิธีสร้าง automate อีเมลล์ต้อนรับ
- การสร้างและใช้งาน automation มีจำกัดไหมคะ ถ้ามีจำกัดเช็คได้จากตรงไหนคะ
- วิธีเชื่อมโดเมนไปยัง landing page
- มีตัวเลือกทดสอบ DKIM authentication ไหมคะ อยากทราบวิธีทำ ทำยังไงค
ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการตอบกลับ แต่ คำตอบที่ได้สั้นและดูไม่เต็มใจช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ต่างจาก TaxiMail ที่เป็นบริการของไทยเช่นเดียวกัน แต่ระบบซัพพอร์ต ตอบคำถามโดยละเอียด และให้ข้อมูลเป็นสเตป มีการถ่ายภาพหน้าจอ และไฮไลท์มาให้ด้วย ถ้าเทียบบริการของTaximail และ Nipamail ถือว่า Nipamail ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานมากเลยทีเดียว
จะดีกว่านี้มาก หาก Nipamail ปรับปรุงระบบซัพพอต และเทรนเจ้าหน้าที่ให้มีใจรักบริการมากขึ้น จะส่งผลดีต่อประสบการณ์การใช้งานแพลตฟอร์มของลูกค้าอย่างมาก
ราคา
ราคาไม่แพงมาก แต่รู้สึกไม่คุ้มเลย
ค่าใช้จ่ายแต่ละแพลนของ Nipamail ถือว่าถูก ถ้าเทียบกับบริการของเจ้าอื่นๆจากต่างประเทศ แต่ถ้าพูดถึงฟังก์ชั่นโดยรวม และบริการบอกเลยว่า ยอมจ่ายแพงกว่านี้เถอะ แล้วไปใช้เจ้าอื่น ถ้าพูดถึงในแง่ของจำนวนลูกค้า และจำนวนอีเมลล์ที่ส่งได้แต่ละเดือน ที่ราคา 300 บาท ของ Nipamail ส่งอีเมลล์ได้ไม่จำกัด ในจำนวนลูกค้า 1,000 ราย ซึ่งเป็นระบบที่เหมือนกับ Sendinblue ที่จำกัดจำนวนลูกค้าที่สมัครรับข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่จำกัดจำนวนอีเมลล์ ส่วนตัวมองว่าคุ้มค่ากว่าของ Nipamail ยังดีที่หากใครต้องการเพิ่มจำนวนรายชื่อผู้รับข่าวสาร สามารถซื้อเป็นจำนวนอีเมลล์เครดิตเพิ่มเองตามชอบ
ในส่วนของแพลนที่มีให้เลือก หลักๆจะมีแค่ 2 แบบ คือแบบฟรีและแบบรายเดือน ซึ่งแบบฟรีจะใช้บริการได้เพียง 30 วัน ได้จำนวนเครดิตอีเมลล์ 2,500 เครดิต เครื่องมีที่ให้ค่อนข้างครอบคลุม แต่อาจจะขาดในส่วนของ automation หน้ารายงานผลข้อมูลตามอุปกรณ์และภูมิภาค และอื่นๆ น่าเสียดายที่ไม่มีประกันความพึงพอใจและรับเงินคืน(Money-back guarantee) อีกทั้งการชำระเงินเป็นแบบโอนผ่านธนาคารภายในประเทศ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับลูกค้าต่างประเทศ
เปรียบเทียบ
รีวิว Nipamail: สรุป
ไม่ปัง ใครอยากลองก็พอไหว
อยากจะชอบบริการนี้นะ เนื่องจากใช้งานง่าย การตกแต่งดูคลีนไม่รกตา แต่พอลองเริ่มใช้สร้างแคมเปญอีเมลล์ ลองหาใช้เทมเพลท ทุกอย่างมันดูขาดไปหมด ทั้งไม่มีเทมเพลทให้เลือกใช้เลย หาเครื่องมือต่างๆค่อนข้างยาก ยังดีที่การตกแต่งดีไซน์เป็นแบบลากและวาง ไม่งั้นต้องลาขาดกับบริการนี้จริงๆ จุดที่พังที่สุดของบริการก็คงจะเป็น ระบบความช่วยเหลือ ที่ไม่มี live chat และระบบช่วยเหลือทางโทรศัพท์ ใช้อีเมลล์ในการติดต่อสื่อสารเป็นหลักเท่านั้น พอลองขอความช่วยเหลือทางอีเมลล์ไป มีทั้งไม่ตอบอีเมลล์บ้าง ตอบแบบสั้นๆ ไม่ได้พยายามอธิบายเป็นขั้นตอน ซึ่งน่าผิดหวังจริงๆ Nipamail ควรปรับปรุงจุดนี้เป็นอย่างมาก ยังดีที่หน้ารายงานผลใช้งานง่าย สะดวก เหมาะกับมือใหม่ที่ไม่เชี่ยวชาญการทำ email marketing มีการให้คะแนนแต่ละรายชื่อ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากๆ สามารถลองแบบทดลองฟรีกับทาง Nipamail 30 วันดู หลายคนอาจจะชอบ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลยแต่ถ้าใครที่ค่อนข้างกังวลเรื่องอีเมลล์สแปมเป็นหลัก Nipamail อาจไม่ตอบโจทย์เนื่องจากระบบคัดกรองอีเมลล์ขาเข้ายังไม่ได้ดีเยี่ยมเท่าของ GetResponse ที่เหมาะมากกว่าในการคัดอีเมลล์ที่ดูสแปมออกและปฏิเสธการนำเข้าให้แบบอัตโนมัติ